ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

สนับสนุน ฟื้นฟูการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ วัดเพลง(กลางสวน)

สนับสนุน ฟื้นฟูการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ วัดเพลง(กลางสวน)

วัดเพลง(กลางสวน) แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

   จิตรกรรมไทย หมายถึง ภาพวาดที่มีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทย ที่แตกต่าง จากศิลปะของชนชาติอื่นอย่างชัดเจน ถึงแม้จะมีอิทธิพลศิลปะของชาติอื่นอยู่บ้าง แต่ก็สามารถ ดัดแปลง คลี่คลาย ตัดทอน หรือเพิ่มเติมจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเองได้อย่างสวยงาม ลงตัว น่าภาคภูมิใจและมีวิวัฒนาการทางด้านรูปแบบ และวิธีการมาตลอดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต จิตรกรรมไทยเป็นลักษณะอุดมคติ เป็นภาพ 2 มิติ โดยนำสิ่งใกล้ไว้ตอนล่างของภาพ สิ่งไกลไว้ตอนบนของภาพ ใช้สีแบบเอกรงค์ คือ ใช้หลายสี แต่มีสีที่โดดเด่นเพียงสีเดียว

"วัดเพลง" เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ประวัติวัดฉบับกรมการศาสนา สร้างขึ้นและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2370 หรือในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยพิจารณาจากอุโบสถหลังเดิมที่มีลักษณะแบบเก๋งจีนที่นิยมสร้างกันในสมัยนั้น (ปัจจุบันทางวัดยึดถือ พ.ศ.2370 นี้เป็นปีก่อตั้งวัด) วัดได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นจนราว พ.ศ. 2460 ก็ได้ขาดผู้ทำนุบำรุง ทำให้เสนาสนะต่างๆ ทรุดโทรมลง ไม่มีภิกษุจำพรรษาจนกลายเป็นวัดร้างที่สุด


บันทึกในอดีตเขียนไว้ว่า “อยู่กลางสวนระหว่างคลองบางน้อยกับคลองบางพรม เป็นวัดร้างถัดไปทางทิศเหนือของวัดกระโจมทอง พระอุโบสถพระวิหารยังคงรูปอยู่ แต่หลังคาพรุนหมดแล้วพระพุทธรูปข้างในเป็นของสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เสาพระวิหารลายปูนปั้นเป็นของรัชกาลที่สาม แสดงว่ารัชกาลที่สาม มาทำการปฏิสังขรณ์แต่แล้วก็คงทนอยู่ไม่ได้ กลับรกร้างไปอีก...พระอาจารย์บุญมา เจ้าอาวาสวัดใหม่เทพพล ท่านได้กรุณาเล่าให้ฟังว่าวัดนี้เพิ่งร้างไปเมื่อ 40 กว่าปีมานี้เอง”

สิ่งที่น่าสนใจ คือ อุโบสถ กว้าง 5 เมตร ยาว 16 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เดิมเป็นทรงเก๋งจีน เมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงสร้างขึ้นใหม่เป็นทรงไทย หลังคา 2 ชั้นลด หน้าบันเป็นลายหน้าขบหรือเกียรติมุขล้อมรอบด้วยเครือเถา หน้าต่างเป็นไม้สัก

ด้วยสาเหตุนี้ทำให้ มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เข้าไปสนับสนุน ฟื้นฟูการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถ วัดเพลง(กลางสวน) เพื่อดำรงรักษาศิลปวัฒนธรรมไทยให้คงไว้ ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 โดยได้ดำเนินงาน ดังนี้

1) วาดภาพอริยมรรค มีองค์แปด คือ หนทางการดับทุกข์ บริเวณฝาผนังหลังพระประธาน

2) วาดภาพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเหล่าทหารที่เคยมาพักแรมอยู่ ณ วัดแห่งนี้ บริเวณด้านหน้าพระประธานซ้าย ขวา ระหว่างบานประตู

3) วาดภาพเทพชุมนุมมากราบสักการะพระพุทธเจ้า บริเวณฝาผนังด้านข้างซ้าย ขวา ช่วงบนผนังคอสอง

4) เขียนเรื่องพระมาลัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อของพุทธศาสนิกชนไทย บริเวณผนังช่องหน้าต่าง ซ้าย ขวา

5) วาดแบบลายเถาผูกลายดอกบัว บริวณบานหน้าต่างด้านใน 6 คู่ 16 บาน