ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

เปลี่ยนข้าวสีม่วงเข้มให้กลายเป็นนวัตกรรม

เปลี่ยนข้าวสีม่วงเข้มให้กลายเป็นนวัตกรรม

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

 มีใครบ้าง ที่ร่วมเปลี่ยนข้าวสีม่วงเข้มให้กลายเป็นนวัตกรรม

ราคาข้าวที่ถูกกดจนต่ำเตี้ย ชาวนาไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ในการประกอบอาชีพนี้ไม่ว่าจะยุคใด สมัยไหน เพราะยังต้องพึ่งพาปุ๋ยยาตามความต้องการของเกษตรวิถีเคมี กลายเป็นปัญหาที่เราได้ยินกันจนชินชา

การส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวแบบคุณภาพ หรือข้าวอินทรีย์ และต่อยอดอาชีพเกษตรกรรมไปสู่การแปรรูปและจัดจำหน่าย จึงเป็นหนทางหนึ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบจากระบบและพ่อค้าคนกลาง มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา จึงร่วมผลักดัน และหาเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาขับเคลื่อน เปลี่ยนข้าวสีม่วงเข้มให้กลายเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างตรงจุด


วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร พระเอกของภารกิจนี้

การรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของสมาชิกกว่า 50 ชีวิต ทัศนคติที่พร้อมเปลี่ยนผืนนาเพื่อปลูกข้าวอินทรีย์ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเกษตรกรสู่ผู้ประกอบการ ทำให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร มีเป้าหมายคือการขอรับรองเกษตรอินทรีย์ภายใต้มาตรฐาน IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งได้เริ่มต้นด้วยการพัฒนาระบบควบคุมภายใน ICS (Internal Control System) เพื่อให้เกิดระบบในการควบคุมคุณภาพการเพาะปลูกข้าวที่จะนำไปสู่การขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM ซึ่งปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างฯ ได้จบภารกิจด้วยการได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีเป้าหมายใหญ่ต่อไป คือการต่อยอดไปสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพระดับพรีเมียมที่หลายฝ่ายมาร่วมด้วยช่วยกัน


 มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ผู้อยู่เบื้องหลังงานขับเคลื่อน

โครงการยกระดับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนให้วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตรของมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยานั้น ให้การสนับสนุนในทุกมิติ ตั้งแต่การให้ความรู้การพัฒนาระบบ ICS (Internal Control System) ในการบันทึกข้อมูลการผลิต และการตรวจรับรองแปลงผลิต เพื่อยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ระดับสากล (IFOAM) เลยรวมไปถึงการสนับสนุนการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (IFOAM) ให้กับกลุ่ม เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มในอนาคตได้

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังสนับสนุนเครื่องมือการแปรรูปข้าวสารให้ได้คุณภาพ ด้วยการปรับปรุงเครื่องสีข้าว พร้อมวัสดุอุปกรณ์ส่วนประกอบ เลยรวมไปถึงการสนับสนุนเครื่องมือการแปรรูปรำข้าวสีเข้มไปสู่สารสกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าและยกระดับเกษตรกรสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้สอดคล้องตามมาตรฐาน อย. เพื่อยกระดับสารสกัดที่ได้ สู่การผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานชัดเจน


ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พี่เลี้ยงฝั่งวิชาการ

โครงการ U Volunteer ที่สนับสนุนโดย มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา ได้ชวนภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมวิจัยคุณประโยชน์ของแอนโทไซยานินที่สกัดจากผิวข้าวสีเข้มจากผืนนาของกลุ่มเกษตรกร และร่วมพัฒนาเพื่อผลิตสารสกัดจากผิวข้าวเจ้าอินทรีย์สีเข้มให้เป็นผลิตภัณฑ์ โดยยังคงทำงานต่อเนื่องกับทางกลุ่มเกษตรกร ในการให้ความรู้ในเรื่องกระบวนการผลิต การควบคุมคุณภาพการแปรรูปให้เป็นไปตามหลักวิชาการและมาตรฐานในห้องแล็บปฏิบัติการ รวมทั้งสร้างระบบที่ตรวจสอบได้ เพื่อให้เกษตรกรที่เป็นสมาชิก สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน


SALANA แบรนด์ที่พาผลผลิตจากเกษตรกรสู่ตลาด และหนุนให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการได้จริง

นอกจากการทำสัญญารับซื้อข้าวอินทรีย์ล่วงหน้าในราคาที่เป็นธรรม เพื่อให้สมาชิกสามารถทำเกษตรอินทรีย์ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ต้องกังวลเรื่องช่องทางการตลาด และราคาข้าวที่ผันผวนขึ้นลง บริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ยังร่วมยกกระดับสินค้าด้วยการนำนวัตกรรมสารสกัดจากผิวข้าวเจ้าอินทรีย์สีเข้มมาพัฒนาเป็น สู่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มข้าวอินทรีย์ Antho-PLUS+ ที่ใช้ ข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์ และสารสกัดแอนโทไซยานินจากผิวข้าวมะลินิลสุรินทร์อินทรีย์ของ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้างอำเภอห้างฉัตร มาผลิตเป็นเครื่องดื่มพร้อมชงในฐานะผลิตภัณฑ์ในตลาดสุขภาพ ที่ มีคุณประโยชน์ช่วยชะลอวัย ปกป้องดวงตาให้แข็งแรง และช่วยฟื้นฟูความจำ เป็นทางเลือกสุขภาพให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เติบโตขึ้นมากในยุคปัจจุบัน


และนี่คือการเดินทาง (และเพื่อนร่วมทาง) สายสีม่วงเข้ม ที่เปลี่ยนข้าวในผืนนาให้กลายเป็นนวัตกรรม ช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากวงจรความยากจน และยกระดับตัวเองสู่ผู้ประกอบการที่พร้อมเติบโตและเป็นต้นแบบให้เกษตรกรกลุ่มอื่นๆ ต่อไป และเราเชื่อว่า โมเดลแห่งความยั่งยืนนี้จะเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง