ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

ไม่กินปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว เท่ากับให้โอกาสลูกปูหลายหมื่นตัวได้เติบโต

ไม่กินปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว เท่ากับให้โอกาสลูกปูหลายหมื่นตัวได้เติบโต

กลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

ไม่กินปูไข่นอกกระดอง 1 ตัว เท่ากับให้โอกาสลูกปูหลายหมื่นตัวได้เติบโต

ใครเห็นแม่ปูมีไข่ล้นทะลักจับปิ้งสีส้มสดใสแล้วอยากกิน จินตนาการว่ารสชาติมันต้องฟินแน่ๆ ขอบอกเลยว่าเข้าใจผิดอย่างมหันต์ เพราะมันไม่อร่อยเหมือนไข่ปูในกระดอง มีรสคาวๆ แถมเนื้อปูก็ยังไม่แน่น และที่สำคัญ การกินปูไข่นอกกระดองคือตัดวงจรการเกิดของลูกปูหลายหมื่นตัวด้วยอิ่มเดียว!

หากจะอธิบายอย่างละเอียด ต้องเล่าวงจรชีวิตแม่ปูเพื่อความเข้าใจ คือเมื่อโตเต็มวัย ปูตัวเมียจะมีไข่สีแดงๆ อยู่ในกระดอง (แบบที่เราชอบกินกัน) แต่เมื่อผสมพันธุ์กับตัวผู้แล้ว ไข่จะออกมาอยู่นอกกระดอง โดยแม่ปูจะรอให้ไข่สุกแล้วใช้ก้ามเขี่ยไข่ลงทะเลเพื่อให้ฟักตัว สังเกตง่ายๆ ถ้าไข่เป็นสีส้ม จะใช้เวลาอีก 4-7 วันก่อนฟักตัว สีน้ำตาลคือเหลืออีก 3-4 วัน สีเทา คือ 2-3 วันและสีดำ คือ 1-2 วันก็พร้อมจะฟักตัว นั่นแปลว่า ถ้าเราเลือกกินปูไข่นอกกระดอง เท่ากับเราตัดโอกาสการเกิดของลูกปูจำนวนมหาศาล เพราะแม่ปูหนึ่งตัวมีไข่ถึง 200,000 - 2,800,000 ฟอง และอัตราการรอดชีวิตของลูกปูมีราวๆ 10% ซึ่งก็มีจำนวนหลายหมื่นตัวอยู่ดี


ด้วยเหตุนี้ จึงมีการริเริ่มจัดตั้งธนาคารปูม้าในหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาประชากรปูม้าลดลง ซึ่งโมเดลของกลุ่มเกษตรกรทำประมงปากน้ำปราณเป็นกลุ่มอนุรักษ์ประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ก็น่าสนใจ นั่นคือการทำสัญญาใจกับชาวประมงในกลุ่ม ให้งดจับปูม้าที่ยังโตไม่เต็มวัยและปูไข่นอกกระดอง หากเกิดได้ปูไข่นอกกระดองติดลอบมา ก่อนจะรับซื้อเพื่อส่งขายต่อ ก็จะรับฝากปูไข่นอกกระดองเอาไว้ในบ่อ รอให้ปูเขี่ยไข่ออกหมดก่อนแล้วค่อยจับปูไปขายทีหลัง จากนั้นก็ปล่อยลูกปูลงทะเลไป ชาวประมงไม่เสียประโยชน์ แต่ทะเลปราณได้ประชากรปูคืนมาให้จับได้นานๆ


และด้วยการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา นอกจากการปรับปรุงโครงสร้างบ่อของธนาคารปูให้เอื้อกับการอนุรักษ์ มีงานวิจัยและสำรวจว่าเพิ่มจำนวนประชากรปูและสัตว์ทะเลได้จริง มูลนิธิฯ ยังส่งเสริมให้เกิดการยกระดับจากเกษตรกรทำประมงสู่ผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการพัฒนาพื้นที่แปรรูปวัตถุดิบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกลุ่มงานวิชาการผ่าน U Volunteer กับมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี และนำมาตรฐาน SALANA PGS มาใช้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพื่อให้งานอนุรักษ์ของชุมชนยั่งยืนด้วยรายได้ ให้เห็นว่าการอนุรักษ์ไม่ได้ทำให้รายได้ของชาวประมงลดลง และยังมีช่องทางที่จะเพิ่มรายได้ให้มากขึ้นด้วย

ประโยคง่ายๆ อย่าง “อย่ากินปูไข่นอกกระดองเลย” จะถูกส่งต่อไปและต่อไป เพื่อสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่ช่วยอนุรักษ์ทะเลไทย ให้มีปูอร่อยๆ ให้เรากินไปอีกนานๆ