ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

คิดแบบ Smart Farmer ทำแบบ Smart Teacher

คิดแบบ Smart Farmer ทำแบบ Smart Teacher

คิดแบบ Smart Farmer ทำแบบ Smart Teacher

เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร จังหวัดระยอง

หลายคนคงเคยได้ยินการเรียนการสอนแบบบูรณาการว่าเป็นการเรียนที่รวมหลายวิชาเข้าด้วยกัน แต่อาจไม่เคยได้ยินการเรียนการสอนแบบบูรณาการบนพื้นฐานเรื่อง ‘เกษตรวิถีธรรมชาติ’ ที่ข้ามศาสตร์มาจากหลักสูตรเพื่อเกษตรกรสมัยใหม่ และถูกหยิบยืมมาใช้โดยคุณครูยุคใหม่ที่คิดแล้วทำจริง

พาทุกคนเดินเข้าโรงเรียนไปคุยกับ ผอ.เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร จังหวัดระยอง ครูยุคใหม่ที่ดึงเอาความรู้เกษตรวิถีธรรมชาติจากการอบรมหลักสูตร Smart Farmer ของมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา มาปรับใช้ในกระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียนได้จริง ที่สำคัญบทเรียนเหล่านั้นยังสอดแทรกองค์ความรู้วิชาหลักไว้ครบถ้วน เพื่อเป้าหมายสูงสุด (School Concept)  คือการเป็นโรงเรียนสมานมิตรสร้างสรรค์เชิงนิเวศ (SAMANMIT Creative Eco-School) โดยใช้แนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ ใช้บริบทพื้นที่เป็นฐานในการสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนให้เป็นโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Eco School) เพื่อให้ผู้เรียนเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่มีชีวิตอย่างพอเพียงเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน


จุดเริ่มต้นของทัศนคติการมองโลก การนำวิถีธรรมชาติมาปรับใช้ในการสอน จนต่อยอดกลายเป็นโมเดลการจัดการศึกษาของ ผอ. คนนี้ น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้หยิบยืมไปใช้ หรือมองเห็นการพัฒนาพื้นที่ให้เข้ากับบริบทของตัวเองได้ อยากรู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ตามไปอ่านกันได้เลย!

เริ่มจากบทเรียนวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ข้ามศาสตร์มาสอนในโรงเรียนได้

จุดเริ่มต้นเกษตรวิถีธรรมชาติในโรงเรียนเริ่มจาก ผอ. มีความชอบเกี่ยวกับเรื่องวิถีอินทรีย์เป็นจริงเป็นจัง ทั้งอยากเติมเต็มความรู้ของตัวเองและตั้งใจจะใช้องค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาโรงเรียนไปพร้อมกัน จึงมองสิ่งรอบตัวให้มีคุณค่าอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องระบบนิเวศ 

“เราชอบงานเกี่ยวกับดิน ใบไม้อยู่แล้ว พอไปทำงานที่ไหนก็จะมองเรื่องของโลกอินทรีย์ เพราะธรรมชาติคือชีวิตของเรา มันหนีไม่พ้นก็ต้องศึกษาให้ถ่องแท้ เพื่อที่จะใช้ชีวิตร่วมกันบนโลกใบนี้ให้มันสมดุลทั้งเราและโลก” จากความคิดเริ่มต้น ผอ. จึงตัดสินใจพาตัวเองเข้าเรียนรู้หลักสูตร Smart Farmer รุ่นที่ 2 ที่จัดโดยมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา


หลักสูตร Smart Farmer คือ หลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในวิถีชีวิตที่มุ่งเน้นเกษตรกรรุ่นใหม่ การเรียนรู้ที่เกี่ยวกับ ‘เกษตรวิถีธรรมชาติ’ ประกอบไปด้วยการรู้จักจัดสรรทรัพยากรที่ตัวเองมีด้วยวิถีอินทรีย์ ใช้อย่างคุ้มค่าและเห็นจุดแข็งของตัวเอง ทุกอย่างที่ว่ามา ผอ. เห็นว่าก็สามารถนำปรับใช้ในโรงเรียนได้เหมือนกันนี่ 

“เราเข้ามาบริหารที่ไหนก็ต้องมองพื้นที่นั้นเป็นตัวตั้ง ซึ่งที่นี่รายล้อมด้วยสิ่งแวดล้อมหลากหลาย คนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร มีสวนยาง ทุเรียน ผลไม้ต่างๆ จุดร่วมที่ชุมชนและโรงเรียนมีเหมือนกันคือ แนวคิดเรื่องการเกษตร” ด้วยเหตุนี้ ผอ. จึงเริ่มกระบวนการเดินเข้าสู่เป้าหมายโรงเรียนที่ขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อม (Eco School) เตรียมนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับปัญหาที่พบในโรงเรียน

“หลังจบหลักสูตรเราได้อะไรกลับมาค่อนข้างมาก คำที่เราจำแม่นในห้องเรียนของอาจารย์ชูเกียรติ โกแมน คือการลด EGO เพิ่ม ECO ซึ่งตรงกับแนวคิดของเราในการทำ Eco School” หลักสูตรที่สอนเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายๆ เพียงแค่ทิ้งอีโก้ออกไปก่อน และค่อยเติมความเป็นอีโค่เข้าไป เพื่อให้มองเห็นภาพใหญ่ของการพัฒนาทั้งระบบ 

การเรียนการสอน ที่สร้างเด็กให้เป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม

“ในหลักสูตร Smart Farmer เราศึกษาในสถานที่จริง เจอประสบการณ์จริงของเจ้าของพื้นที่ เราใช้เคสของเขาเป็นตัวอย่างเพื่อพัฒนาพื้นที่ของเรา พอเราได้เรียนรู้ เราก็กลับมาตั้งโจทย์ตั้งคำถามกันต่อ” 

หลังจากกระบวนการเรียนรู้จบลง ผอ. ได้เริ่มต้นขั้นตอนแรกคือ การมองหาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนประสบและจัดการด้วยเกษตรวิถีธรรมชาติ โดยโรงเรียนได้อิงปัญหาใหญ่รอบโรงเรียนคือ เกษตรกรหลายบ้านยังใช้สารเคมีอยู่ แต่จะให้ไปเปลี่ยนชุมชนตั้งแต่แรกเลยก็ดูยากเกินกำลัง

กระบวนการที่คุณครูสอนให้กับเด็กๆ จึงเป็นการที่ลงไปคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติ เห็นปัญหาและแก้ด้วยวิถีธรรมชาติ รวมทั้งสอนให้เด็กๆ ตระหนักถึงผลการใช้สารเคมีที่จะกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้ในอนาคต

ขณะเดียวกัน ปัญหาใหญ่ในโรงเรียนคือ ‘ขยะใบไม้แห้ง’ คุณครูได้จัดกระบวนการสอนให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีการนำใบไม้แห้งมาหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ผลสุดท้ายสามารถนำไปใช้ได้จริง กระบวนการสอนเริ่มต้นตั้งแต่แบ่งหน้าที่เก็บใบไม้แห้งในตอนเช้า รวมกลุ่มกันทำรั้วหมักปุ๋ย ระหว่างนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิชาหลักอื่นๆ ระหว่างลงมือทำด้วย (อ่านบทความภารกิจทำปุ๋ยหมักต่อที่นี่-ลิงค์ไปบทความ The StoryDoing) 


เป้าหมายสูงสุดเพื่อให้นักเรียนเป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนที่มีอยู่จะทำยังไงให้แก้ปัญหาได้โดยไม่ใช่แค่จัดการขยะเฉยๆ ทำให้เข้าไปในวิถีการเรียนรู้เลยได้ไหม เพื่อสร้างให้เด็กๆ เป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม มีความตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมได้ในทุกอาชีพ เพราะตอนนี้เรื่องสิ่งแวดล้อมมันสำคัญ เป็นต้นเหตุของปัญหาทุกเรื่องเลย” การเรียนการสอนที่ใช้สิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานและเชื่อมโยงเข้าวิชาหลัก ทำให้เด็กๆ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ รู้ประโยชน์และวิธีการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

“พอเด็กๆ เริ่มรู้และภาคภูมิใจในความเป็นธรรมชาติของโรงเรียน เด็กแต่ละคนเขาพัฒนาไปเยอะมากๆ สังเกตจากการพูดคุยการแสดงความคิดเห็น การสะท้อนคิด มันเลยเป็นการบูรณาการการเรียนรู้ที่เห็นผลได้จริง” 

  ถ้าเด็กต้องเรียนรู้ คุณครูก็ต้องศึกษาทักษะเพิ่มเติม

“ในช่วงเริ่มทำกิจกรรม ก็มีการย้ายเข้าออกของครู เราก็ต้องคุยปรับแนวความคิดกันใหม่ตลอด บางทีแค่พูดมันไม่เห็นภาพ เลยพาคุณครูไปลงเรียนหลักสูตร Smart Farmer รุ่นที่ 6 ด้วย ครูเป็นหลักสำคัญในการอำนวยการเรียนรู้ เพราะเด็กจะไม่มีทางเข้าใจที่เราสอน เหมือนเราพาเขาลงมือทำและตั้งคำถาม เลยต้องส่งคุณครูไปเรียนหลักสูตรอินทรีย์ด้วย เขาจะได้เข้าใจว่าต้องพาเด็กไปทางไหนมากขึ้น”

เมื่อมีคุณครูลงลึกถึงกระบวนการจนเข้าใจ ใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะกับเด็กแต่ละระดับชั้น มองเห็นเด็กเป็นรายบุคคลและสนับสนุนสิ่งที่เขาสนใจ ก็จะยิ่งดึงศักยภาพเด็กแต่ละคนออกมาได้ดี และในวิชาบูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนนี้ ได้มีการคละการเรียนการสอนให้เด็กๆ ได้เจอหน้ากันทุกระดับชั้นด้วย น้องช่วยพี่ พี่ช่วยน้อง อีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่เด็กจะได้โดยมีคุณครูคอยไกด์แนวทางและได้เรียนรู้เด็กแต่ละคนไปพร้อมกัน 

โรงเรียนเป็นของชุมชน ไม่ใช่ของเรา

“เป้าหมายของโรงเรียนเราคิดแค่ครูด้วยกันไม่ได้ เราต้องเอาชุมชนมาช่วยคิดด้วย เพราะโรงเรียนเป็นของเขาไม่ใช่ของเรา สังเกตว่าโรงเรียนไม่มีรั้ว ถ้ามีรั้วเหมือนว่าเราปิดกั้น มันเข้าออกยาก”

ถึงแม้พื้นที่จะเปิดโล่งแต่ทุกคนก็เคารพในพื้นที่ของกันและกัน นักเรียนอยู่ในบริเวณโรงเรียนเวลาเรียน ชุมชนเข้ามาในโรงเรียนเมื่อมีกิจสำคัญ ด้วยความเฟรนด์ลี่ของพื้นที่เลยทำให้คนในโรงเรียนและคนในชุมชนสนิทกัน แบ่งปันทุกอย่างให้กันได้เสมอ

“บางครั้งเราขาดงบประมาณในการซื้อมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมัก บ้านผู้ปกครองคนนี้เขาก็ยกมาให้ หรือถ้าจะตัดหญ้าที่สนามก็จะมีผู้ใหญ่บ้านและกลุ่มจิตอาสามาช่วย เพราะโรงเรียนเป็นของชุมชน เขาใช้ชีวิตกันมาตั้งแต่เด็ก บางคนกลายเป็นผู้ปกครอง ทุกคนเลยพร้อมช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องร้องขอ เพราะชุมชนเข้าใจแนวคิด Eco School และพร้อมเรียนรู้ไปด้วยกัน”


หญ้าในสนามที่ถูกตัด โรงเรียนก็นำไปทำปุ๋ยหมักต่อ กระบวนทำปุ๋ยหมักใบไม้แห้งก็สมบูรณ์เพราะมีมูลสัตว์มาเติมเต็ม เด็กๆ ได้เรียนรู้ครบวงจร นอกจากการมีสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนโดยรอบ ความสัมพันธ์กับชุมชนที่ไกลออกไปก็มีเหมือนกัน

“เรามีติดต่อชุมชนอื่นที่มีศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ พาเด็กๆ ไปดูสถานที่จริงเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในเรื่องเดียวกัน โรงเรียนเราบางทีเราไม่สามารถทำเต็มรูปแบบอย่างเขาได้ เราไปหาเขาเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเรา นี่เป็นการเชื่อมโยงกันระดับหมู่บ้าน และระดับตำบลด้วย”

โรงเรียนเล็ก ที่เน้นเรื่องคุณภาพ

“การเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มันยากตรงที่เราไม่มีเงิน แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้ เราแค่ใช้ความรู้ ความคิดในการขับเคลื่อน ทำไมเราต้องซื้อของแพงๆ มาเนรมิตสนามเด็กเล่น เราใช้วิธีอื่นก็ได้” ผอ. นักพัฒนาบอกยิ้มๆ 

“เราพยายามสร้างผลงานให้มันตอบโจทย์ ทุกคนพร้อมสนับสนุนเรา เราพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพไปแลกดีกว่า ถ้าเรามีคุณภาพใครเขาก็อยากให้ เราไม่เคยทำผ้าป่าเพราะไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียน มันอยู่ที่เราจะสร้างความศรัทธาให้เขาแค่ไหนที่เขาอยากจะเข้ามาช่วยต่างหาก”

เพราะยังยึดหลักว่าโรงเรียนคือสถานที่ศึกษา ผู้บริหารและคุณครูจึงเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาโรงเรียนเพื่อให้ถึงเป้าที่หวัง และยกระดับความเป็นโรงเรียนเล็กให้แน่นคับถ้วยไปด้วยคุณภาพ อย่างสนามเด็กเล่นในโรงเรียนนี้ก็ถูกเนรมิตจากกองไม้เหลือใช้สภาพดีจากวัดใกล้โรงเรียน แรงของคนในชุมชน และสถาปนิกการศึกษา ที่ออกแบบแผนผังมาแล้วว่าพื้นที่การเรียนรู้ตรงนี้ต้องใช้ประโยชน์ได้ทุกจุด

“การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการสร้างแต่ละพื้นที่ก็สำคัญ เพราะเราทำคนเดียวไม่ไหว เราก็ขอความร่วมมือกับทีมผู้นำชุมชนมาช่วย เลยเกิดการพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบและยั่งยืนเพราะว่ามีชุมชนเข้ามาร่วมด้วย แม้ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารแต่ชุมชนยังอยู่ ผู้บริหารคนไหนมาเขาก็จะสานต่อ ตามแนวคิดและบริบทเดิมของพื้นที่”

สร้างคุณค่าให้การอยู่ร่วมกันมีความหมาย

“การที่เป็นโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรม เรามองว่าเป็นการซัพพอร์ตที่สำคัญ เพราะเป้าหมายของการศึกษาคือ การมีอิสรภาพและความสุข ที่เราจะจัดการได้ภายในบริบทของเรา”

โรงเรียนบ้านสมานมิตรเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่สุดใน 11 โรงเรียน ที่สภาการศึกษาคัดเลือกให้เป็นสถานศึกษาต้นแบบในการถอดบทเรียน วิธีการพัฒนาการบริหารจัดการสถานศึกษาจึงออกมาเป็นรูปแบบ (Model) เป็นนวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในการนำมาตรฐานการศึกษาของชาติมาปฏิบัติ โดยใช้รูปแบบ SAMANMIT Model ซึ่งได้ตีพิมพ์ออกมาโดยกลุ่มมาตรฐานการศึกษา สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา พิมพ์ครั้งที่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อนำไปเป็นแนวทางปรับใช้กับโรงเรียนอื่นที่บริบทใกล้เคียงกับบ้านสมานมิตรได้  

SAMANMIT Model คือ รูปแบบการบริหารจัดการศึกษา เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนบ้านสมานมิตร โดยนำคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย 3 ด้าน ไปสู่การปฏิบัติได้จริง เพื่อให้เป็นผู้เรียนรู้ เพื่อสร้างงานและคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่มั่นคงมั่งคั่งและยั่งยืน เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เพื่อสันติสุข มีความตระหนักรู้ผิดถูก และมีจิตอาสา 

“ที่สำคัญ ที่เราทำทุกวันนี้เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ คนเราต้องอยู่รอด ถ้าอยู่คนเดียวก็รอดได้แต่เราอยากอยู่ร่วมกันแบบมีความหมายคือ การสร้างคุณค่าให้กับตนเองและผู้อื่น ถึงแม้ว่าเราไม่ได้อยู่โรงเรียนใหญ่ เราก็สร้างการรับรู้และเป็นโมเดลให้กับโรงเรียนอื่นได้หลายโรงเรียน 

“เราไม่ชอบอยู่คนเดียวทำคนเดียว เลยชวนเพื่อนอีก 3 โรงเรียนมาขับเคลื่อนไปด้วยกัน ถึงแม้อีกโรงเรียนเขาจะอยู่ริมทะเล ก็สามารถสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องการจัดการขยะริมชายหาด อีกโรงเรียนแวดล้อมด้วยนาข้าวก็สร้างความตระหนักรู้เรื่องข้าวอินทรีย์ 

“เพราะสิ่งที่เราต้องการมากกว่าเงินคือ ความร่วมมือซึ่งกันและกัน” ผอ. เล่า ก่อนบอกว่าเธอได้กลายเป็นโต้โผ ชวนเพื่อนโรงเรียนอื่นและคนในชุมชนไปลงหลักสูตรเดียวกัน และวางแผนร่วมไม้ร่วมมือด้วยกันในระยะยาว โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วน ใช้บริบทพื้นที่เป็นฐานในการนำนวัตกรรมการศึกษาขับเคลื่อน 

สังคมจะเคลื่อนไปได้ต้องจับมือเคลื่อนกันไปด้วยกัน ด้วยพลังแห่งการแบ่งปันความรู้และการดึงจุดแข็งตัวเองออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงจะเป็นระบบนิเวศการเรียนรู้สู่การพัฒนาการศึกษาอย่างเป็นองค์รวมที่ยั่งยืนแท้จริง