ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

Goal Together กิจกรรม “ลงแรงทำซั้ง เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ปากน้ำปราณ

Goal Together กิจกรรม “ลงแรงทำซั้ง เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ปากน้ำปราณ

กลุ่มประมงพื้นบ้านปากน้ำปราณ อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์

โครงการ Goal Together#7 โดยมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา พาอาสาไปร่วมลงแรงและเรียนรู้ว่าทะเลสำคัญกับเราอย่างไรผ่านการลงมือทำใน ‘โครงการลงแรงทำซั้ง เรียนรู้ธนาคารปูม้าปากน้ำปราณ’

เริ่มกิจกรรมการเรียนรู้ธนาคารปูม้า โดยมีประธานกลุ่ม นายเจือ แคใหญ่ (ลุงเจือ) พาเรียนรู้ธนาคารปูม้า พาอาสาสมัครชมบ่ออนุรักษ์ปูม้า จำนวน 8 บ่อ ที่มีปูม้าที่เป็นแม่พันธุ์ที่ชาวบ้านนำมาฝากและบริจาคเพื่อการอนุรักษ์ อธิบายที่มาของการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ในการขับเคลื่อนงานตั้งแต่การออกทะเล จนถึงการปล่อยลูกปูลงสู่ทะเล ซึ่งระหว่างการให้ความรู้อาสาสมัครก็มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และซักถามต่อข้อสงสัย


    ในช่วงบ่ายเราพาอาสาไปเรียนรู้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ที่เกิดจากภูมิปัญญาและการคิดค้นของชาวบ้านที่ใช้ในการจับสัตว์ทะเล และเป็นเครื่องมือที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมทำซั้ง(บ้านปลา) โดยมีตัวแทนกลุ่มเกษตรกรฯ เป็นผู้ให้ความรู้ ก่อนที่จะมีการลงมือทำอาสาได้เรียนรู้เกี่ยวกับ ความสำคัญของ “ซั้ง” ที่มีต่อระบบนิเวศ รวมไปถึงวัสดุที่ใช้ทำมีความคงทนและเป็นมิตรต่อระบบนิเวศท้องทะเลอย่างไร

วงเสวนา “จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ กับวิถีประมงพื้นบ้านสู่การอนุรักษ์ที่ยั่งยืน” 

1. นายเจือ แคใหญ่ พูดถึงการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ที่เรียกได้ว่าเป็น “ ต้นน้ำ ” ของกิจกรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นว่ามีจุดเริ่มต้นอย่างไร ต้องต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคที่เข้ามา และสามารถแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ต่างๆได้อย่างไร รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มสามารถขับเคลื่อนได้จนถึงปัจจุบันที่มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจของกลุ่มได้ดีขึ้น ชุมชนมีรายได้ และสร้างความยั่งยืน และมีเป้าหมายสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนได้อย่างไร

2. อาจารย์รชกร วชิรสิโรดม ตัวแทนหน่วยงานวิชาการที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานในพื้นที่หนุนเสริมความรู้ด้านวิชาการและสร้างระบบการวางแผนทางด้านการตลาด และระบบมาตรฐาน รวมไปถึงการเข้ามาหนุนเสริมความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อผลักดันไปสู่ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนต่อไป

3. ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ นางสาวอภิญญา โชคบัณฑิต ผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาหนุนเสริมความรู้เรื่องมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่อยอดความรู้ให้กับกลุ่ม ชวนคิด แลกเปลี่ยน สะท้อนบทเรียน และวิเคราะห์ศักยภาพ สู่การพัฒนาระบบให้ได้การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในเบื้องต้น โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ทั้งนี้การมีมาตรฐานก็เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าหรือผู้ที่สนใจ และเป็นการให้การรับรองว่าสินค้าของกลุ่มมีมาตรฐานและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

4. ตัวแทนมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา นายวุฒิพงศ์ ชาครัตพงศ์ รองประธานมูลนิธิ หน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนกิจกรรมของชุมชน โดยการสร้างความรู้ และสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความยั่งยืน โดยพิจารณาจากกลุ่มที่มีศักยภาพในการดำเนินงานและสามารถเป็นโมเดลทางสังคมให้กับชุมชนอื่นๆได้

• กิจกรรมวางซั้ง

อาสาลงเรือทั้งหมด 9 ลำ ในการไปวาง "ซั้ง" พิกัดเดิมที่เคยวางในทุกปี อยู่ห่างออกไปนอกชายฝั่ง 3,000 เมตร โดยนำซั้งลงเรือ ประกอบด้วย ทุ่นปูน ไม้ไผ่ และทางมะพร้าว ลำละ 2 ซั้ง เพื่อเป็นการเรียนรู้ครบกระบวนการตั้งแต่เริ่มทำจนถึงวางซั้ง หลังวางซั้งเสร็จแล้ว อาสาสมัครยังได้เรียนรู้วิถีชีวิตหาอยู่หากินของเกษตรกรทำประมง คือ การเก็บลอบปู เก็บอวนปลาหลังเขียว และเก็บกู้ลอบหมึกสาย (ลอบหอยสัง)

กิจกรรมการถอดบทเรียน โดยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ได้ระดมความเห็นกันใน 3 หัวข้อ คือ

1. ได้อะไรจากการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ส่งผลต่อชุมชนอย่างไร

2. การปรับตัวของกลุ่มสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ส่งผลต่องานอนุรักษ์อย่างไร

3. มุมมองจากภายนอกต่อกลุ่มฯ มีความสำคัญอย่างไร และช่วยเหลือพื้นที่ได้อย่างไร

เพื่อนำข้อมูลจากการถอดบทเรียนนี้คืนให้กับชุมชนเพื่อทำการปรับปรุงและพัฒนาศักยภาพของกลุ่มต่อไป