ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

ฟื้นฟู ‘โคลนตม’ ให้กลับคืนเป็นดง ‘หญ้าทะเล’

ฟื้นฟู ‘โคลนตม’ ให้กลับคืนเป็นดง ‘หญ้าทะเล’

วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชังบ้านพรุจูด ต.บ่อหิน อ.สิเกา จ.ตรัง

 ฮาวทูฟื้นฟู ‘โคลนตม’ ให้กลับคืนเป็นดง ‘หญ้าทะเล’

  ถ้าพูดถึงระบบนิเวศอันแสนสมบูรณ์ ภาพแรกที่คนเมืองคิดถึงก็คือป่าเขาลำเนาไพร แต่ที่จริงแล้วยังมีระบบนิเวศอื่นๆ ในไทยที่ผุพัง สูญหาย รอคอยให้มีใครเห็นคุณค่าและเข้าไปฟื้นฟูอยู่อีกมาก หนึ่งในนั้นก็คือ ‘แหล่งหญ้าทะเล’ ที่เคยอุดมสมบูรณ์อย่างถึงที่สุด ณ ภาคใต้ของบ้านเรานี้เอง

โชคดีที่เรื่องนี้ไม่ได้จบลงแบบเศร้าๆ เพราะมี ‘โครงการอนุรักษ์ระบบนิเวศหญ้าทะเล’ ซึ่งริเริ่มโดยพี่บรรจง นฤพรเมธี ประธานวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงปลากระชัง บ้านพรุจูด ตำบลบ่อหิน อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง ผู้ฮึดสู้หาหนทางคืนความสมบูรณ์ให้ชายฝั่งทะเลตรังอยู่หลายปี ผ่านการล้มลุกคลุกคลานกับการฟื้นฟูหญ้า จนค้นพบวิธีที่เวิร์กกับทุกภาคส่วนและเร็วทันใจที่สุด นั่นก็คือการเพาะขยายพันธุ์ต้นกล้าหญ้าทะเลแล้วเอามาปลูกคืนให้ชายฝั่ง จึงกลายเป็นโมเดลเปลี่ยนโคลนตมเป็นดงหญ้าทะเล ที่พิสูจน์ได้ว่าประสบความสำเร็จสุดๆ (แหล่งหญ้าทะเลที่บ้านพรุจูดกลับมาสมบูรณ์นับหมื่นไร่!) จนต้องแบ่งปันองค์ความรู้ให้ชุมชนอื่นหยิบยกไปใช้

เห็นความตั้งใจดีของพี่บรรจง มูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ จึงขออาสาลงไปช่วยลงพลังทั้งแรงกาย แรงใจ แรงทุน และร่วมถอดบทเรียนวิธีฟื้นฟูหญ้าทะเลริมอ่าวมาเล่าสู่กันฟังแบบเข้าใจง่าย ไปดูกันว่าพี่บรรจง ชุมชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนต้องผ่านอะไรมาบ้าง กว่าจะฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลให้ปลาตัวเล็กตัวน้อยกลับมามีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ชาวบ้านก็กลับมากินดีอยู่ดีจากการจับปลาเลี้ยงชีพได้ ส่วนสัตว์ทะเลหายากอย่างพะยูนก็กลับมาอาศัยอยู่ได้อีกครั้ง ยืนยันว่าทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันไป แต่เรา ‘ช่วยกัน’ ทำได้จริงๆ

1. เข้าใจว่า ‘แหล่งหญ้าทะเล’ = ‘หม้อข้าวชุมชน’ ที่หดหาย

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 คือตัวเร่งที่ทำให้เกิด การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ของพื้นที่ชายฝั่ง เมื่อตะกอนดินทับถมจนแหล่งหญ้าทะเลค่อยๆ หดหาย แหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลวัยอ่อน เช่น ปลา กุ้ง ปู ก็หายตามไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงธรรมชาติที่อยู่ไม่ได้ แต่ชาวประมงในชุมชนที่เคยเลี้ยงชีพด้วยการเอาลูกพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กจากแหล่งอนุบาลธรรมชาติ มาเลี้ยงให้มีขนาดใหญ่แล้วนำไปจำหน่าย ก็ไม่สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพได้อย่างยั่งยืนอีกต่อไป

ปัญหาเรื่องรายได้ของชุมชนลดลง และความมั่นคงทางอาชีพที่หายไปนี้เองที่ไปกระตุ้นต่อมอนุรักษ์ของพี่บรรจง ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ให้นิ่งนอนใจไม่ได้ ยิ่งเห็นอดีตแหล่งหญ้าทะเลที่เคยสมบูรณ์ เปลี่ยนไปกลายเป็นโคลนตมที่ไร้วี่แววสิ่งมีชีวิต ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้อยาก ฟื้นฟูหม้อข้าวของชุมชนกลับคืนมาให้จงได้


2. ทดลอง จนกว่าจะเจอวิธีฟื้นฟูหญ้าที่ ‘ยั่งยืน’ กับทุกฝ่าย

การฟื้นฟูหญ้าทะเลอาจฟังดูไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถ แต่งานยากของนักอนุรักษ์คือการบริหารความพึงพอใจของผู้คนที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการทุกฝ่าย จนกว่าจะได้วิธีที่ยั่งยืนที่สุด

ถ้าย้อนกลับไปตอนเริ่มโครงการใหม่ๆ พี่บรรจงเองก็ทดลองมาแล้วหลากหลายวิธี แต่ก็ยังไม่ใช่ เริ่มจากวิธีแรกคือ วางซั้งกอหรือซั้งเชือก เพื่อให้มันไปเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทดแทนหญ้าทะเล ปรากฏว่าเมื่อลองทำจริงในพื้นที่ ตัวซั้งกลับไปกีดขวางการจับปลา มีผลกระทบต่อการใช้เครื่องมือประมง เช่น คนที่จับปลาด้วยอวนก็จับปลาไม่ได้ วางอวนก็ไปติด เมื่อทำประมงไม่ได้ชาวประมงก็ไปตัดซั้งทิ้งเสีย จึงนำไปสู่ความขัดแย้งของชุมชนได้ นอกจากเรื่องนี้ ระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันที่ขึ้นและลงสุด ก็ยังทำให้ซั้งมีโอกาสกลายเป็นกองขยะทับถมได้ พอรู้ว่าวิธีการนี้ไม่เหมาะสมก็ล้มเลิกไป

วิธีที่สอง พี่บรรจงลองเปลี่ยนมาเป็นวิธีการ วางปะการังเทียม ซึ่ง ชาวบ้านรับได้มากกว่า แต่ต้องใช้เงินทุนสูง แถมเงื่อนไขของปะการังที่เป็นแท่งคอนกรีตก็คือต้องการ ชายฝั่งที่ลึกจากน้ำทะเลอย่างน้อย 10 เมตร หากหน่วยงานที่มาวางปะการังไม่ ทำตามข้อกำหนด ก็จะมีผลต่อการยกพลขึ้นฝั่งทางเรือ ซึ่งชายฝั่งตรงนี้ประเมินแล้วว่าลึกไม่เพียงพอ ไอเดียนี้ก็เป็นอันตกไป

วิธีที่สาม ย้ายหญ้าจากที่อื่นมาปลูก น่าจะเป็นหนทางที่ใช่ที่สุด พี่บรรจงจึง ลองเริ่มย้ายปลูก อัตรารอดก็หญ้าทะเลก็ดี แต่วิธีการไปเอาหญ้าจากแหล่งชุมชนเดิมที่หญ้าทะเลสมบูรณ์ กลับทำให้เกิดความขัดแย้ง ชุมชนมองว่าการย้ายปลูกอาจทำให้แหล่งพันธุ์ไม่อุดมสมบูรณ์เท่าเดิม เมื่อชุมชนเจ้าของต้นพันธุ์ไม่เห็นด้วย วิธีนี้ก็ต้องตกไปอีกครั้ง

3. เพาะต้นกล้าเองจากเมล็ดหญ้าทะเล คือคำตอบสุดท้าย!

วิธีที่กลายมาเป็นคำตอบสุดท้าย คือการ ‘เพาะเมล็ด’ เองเสียเลย แต่พี่บรรจงเล่าว่ากว่าจะเพาะให้มีอัตรารอดที่สูงได้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะต้องเรียนรู้เทคนิคที่จะสร้างสมดุลให้กับหญ้าทะเล กว่าจะได้เป็นต้นกล้าที่แข็งแรงจริงๆ โดยต้องไป ขอคำแนะนำจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา เรียนรู้วิธีขยายพันธุ์ด้วยการแยกกอ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้วิธีเพาะเมล็ดในถังน้ำทรงสี่เหลี่ยมที่ต้องให้ออกซิเจนและควบคุมอุณหภูมิ ความเค็ม ปริมาณแสงให้เหมือนในทะเลมากที่สุด ซึ่งการเพาะหญ้าทะเลแต่ละชุดต้องใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ถึงจะสามารถนำต้นกล้าไปปลูกได้

ปี พ.ศ. 2553 ทีมพี่บรรจงจึงลองเอาต้นกล้าไปทดลองปลูกที่อ่าวบุญคง แหล่งหญ้าทะเลที่เสื่อมโทรมและสูญหายไป ดูว่าสภาพตะกอนดินพอจะปลูกหญ้าทะเลได้ไหม เมื่อผลลัพธ์มีอัตรารอดที่ค่อนข้างดี จึงปลูกและฟื้นฟูจนต่อมาเรื่อยๆ ในปี 2554-2558 จนสามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลที่อ่าวบุญคง กลับคืนมาได้ 70% เมื่อเริ่มมีร่องรอยของพะยูนมากินหญ้าทะเล เริ่มมีลูกปลามาอาศัยมากขึ้น จึงเริ่มเห็นความสำเร็จของแหล่งหญ้าทะเลที่ฟื้นฟู

4. ยกโมเดลที่สำเร็จ ไปลุยต่อที่หาดคลองสน แล้วต่อยอดสู่ ‘กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศ’

  เมื่อโมเดลเพาะหญ้าทะเลเริ่มมั่นคง ในปี พ.ศ. 2559 ทีมพี่บรรจงก็ยกองค์ความรู้ไปใช้ฟื้นฟูต่อที่เกาะผี หาดคลองสน ซึ่งมีความท้าทายเพราะเป็นทะเลเปิด พื้นที่กว้าง ตะกอนดินฟื้นฟูได้ช้ากว่า โดยในครั้งนี้ได้นำต้นกล้าไปลองเพาะปลูก 2,000 ต้น จากนั้นก็มีอาสาสมัครไปช่วยลงแรงอีก 6,000 ต้น จนสุดท้ายแหล่งหญ้าทะเลกลับมาได้จนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10-20 ไร่

ไม่ใช่แค่ที่ อ.สิเกา ที่เห็นความสำเร็จของการฟื้นฟูหญ้าทะเล แต่ยังมีเครือข่ายที่จังหวัดอื่นก็สนใจโมเดลนี้ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเกาะลิบง ที่เดินทางมาศึกษาวิธีเพาะ และมาขอต้นกล้าไปโดยตรง มากกว่านั้น ทีมพี่บรรจงก็ไม่ลืมพื้นที่เดิมที่เป็นแหล่งซึ่งไปเอาเมล็ดออกมาเพาะปลูก จึงต้องนำต้นกล้าหญ้าทะเลกลับไปปลูกเพื่อฟื้นฟูที่เดิม ซึ่งถือเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีของเครือข่ายเรื่องชุมชนหญ้าทะเลอีกด้วย

หนึ่งในปัญหาของงานอนุรักษ์ คือช่วงแรกคนทำฮึกเหิมมาก พอทำไปสัก 2-3 ปี คนในชุมชนก็เริ่มล้าลง ผลมาจากทั้งในเรื่องค่าใช้จ่าย เวลา และกระบวนการเพาะ ทีมพี่บรรจงจึงค้นหากลยุทธ์ให้ชุมชนมีกำลังใจทำมากขึ้น จึงใส่การอนุรักษ์ไปในการท่องเที่ยวเชิงชุมชน ความน่ารักคือเมื่อนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งมา ก็เก็บต้นหญ้ามาให้ชุมชนเพาะ ส่วนอีกกลุ่มนึงมาก็เอาต้นกล้าไปปลูก เกิดเป็นโมเดลการท่องเที่ยวแบบจิตอาสา และเริ่มมีหน่วยงานสนใจและสนับสนุนกิจกรรมนี้ในจังหวัดตรังมากขึ้นเรื่อยๆ

5. มูลนิธิฯ สนับสนุนอีกแรง ชวนคนรุ่นใหม่ไปช่วยกันปลูกหญ้าทะเลในกิจกรรม Goal Together

  มูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ คือหนึ่งในหน่วยงานที่สนใจเรื่องความยั่งยืนของชุมชน เมื่อเห็นว่าทีมพี่บรรจงนำทีมทำงานอนุรักษ์มากว่า 10 ปี จึง อยากให้ชุมชนมีแรงทำต่อ เลย เข้ามาร่วมสนับสนุน ด้วยการนำอาสาสมัครจากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มาเรียนรู้ ลงแรงฟื้นฟูหญ้าทะเล ร่วมกับชุมชนและเยาวชน ผ่านกิจกรรมโครงการ Goal Together และยังช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ชุมชนทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์และฟื้นฟูหญ้าทะเลอย่างต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ไปด้วย เพราะการฟื้นฟูไม่สามารถทำด้วยคนใดคนหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่ต้องการความร่วมมือของคนหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา รวมทั้งชุมชน จึงต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนอยู่สม่ำเสมอ

นอกจากสนับสนุน มูลนิธิฯ ยังตั้งเป้าร่วมกันกับพี่บรรจง จากความสำเร็จของ หาดคลองสนซึ่งฟื้นฟู กลับมาได้กว่า 20 ไร่ จึงตั้งเป้าไกล ว่าอยากจะเห็นหญ้าทะเลใน อำเภอสิเกา กลับมาได้ถึง 50 ไร่ ภายในเวลา 5 ปี อีกด้วย

6. หญ้าทะเลและชุมชน กลับมามีชีวิตได้ก็เพราะ ‘ความร่วมมือ’

“ความสนุกของการมาเป็นจิตอาสาปลูกหญ้าทะเล มองเผินๆ คือการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ ได้อิ่มเอิบในการทำความดีให้กับชุมชน แต่ถ้ามองให้กว้าง มันมีผลย้อนไปถึงการฟื้นฟูความมั่นคงทางอาหาร การลดภาวะโลกร้อน ได้ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและโลก สุดท้ายผลลัพธ์มันก็กลับมาที่ตัวเราทุกคน ที่เป็นภาพใหญ่ของสังคม” พี่บรรจงทิ้งท้าย กึ่งเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่มาร่วม Goal Together ปลูกหญ้าทะเลกันดูสักตั้ง

● ต้องมีใจมาก่อน ไม่มุ่งหวังผลสำเร็จ แต่มองเห็นคุณค่าในการฟื้นฟู

● ส่วนความรู้ไม่ต้องพกมา แต่พร้อมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ เพราะบางทีจิตอาสาเองก็มาเติมเต็มความรู้ให้ชุมชนได้ด้วย เพราะพี่บรรจงใช้กระบวนการนี้มาโดยตลอด คือเป็นทั้งผู้รับและผู้ร่วมลงมือ

ใครที่สนใจอยากยกมืออาสาไปช่วยลงแรงปลูกหญ้าทะเลกับพี่บรรจงและมูลนิธิฯ ของเรา ท่ามกลางบรรยากาศทะเลทางใต้ที่งดงาม และความอิ่มอกอิ่มใจ รอติดตามข่าวสารที่เพจมูลนิธิฯ ของเราได้เลย