ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ปล่อยให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา

โรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ปล่อยให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา

โรงเรียนวัดเขายี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

โรงเรียนขนาดเล็ก ที่ไม่ปล่อยให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา

มีการคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 ที่จะถึงนี้ เด็กกว่าหกหมื่นคนอาจหลุดออกจากระบบการศึกษา!

นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจจะทำให้หลายครอบครัวไม่สามารถส่งเด็กๆ ให้เรียนจบตามมาตรฐานการศึกษาแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งก็กำลังเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอนไม่ต่างกัน เพราะแม้เด็กๆ จะสามารถเข้าเรียนได้ตามปกติ แต่มาตรฐานของโรงเรียนหลายแห่งก็ไม่ได้ทัดเทียมกับโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวเมือง ท้ายที่สุดเด็กๆ จึงไม่มีสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการหลุดออกจากระบบการศึกษา

แต่ใช่ว่าทุกโรงเรียนเล็กจะต้องจมอยู่กับปัญหาการศึกษาไม่เท่าเทียม เพราะโรงเรียนวัดเขายี่สาร จังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งในโรงเรียนที่เคยเผชิญปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานการศึกษา กลับมีเทคนิคพัฒนาโรงเรียนให้กลับมาเปิดเรียนได้อย่างเต็มคุณภาพ ชนิดที่ว่าอดีตผู้อำนวยการ คุณครูเดชา บุญชู หนึ่งในผู้ริเริ่มโครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กพูดได้เต็มปากเลยว่า โรงเรียนแห่งนี้แทบจะมีคุณภาพดีไม่ต่างจากโรงเรียนใหญ่ในเมืองแล้ว

เหล่าคุณครูเขาทำได้ยังไง ลองตามผอ.ไปดูกัน!


โรงเรียนวัดเขายี่สาร โรงเรียนขนาดจิ๋วที่มีนักเรียนแค่ 80 คน

โรงเรียนวัดเขายี่สาร เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล-ประถมศึกษา ตั้งอยู่ในอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม แม้จะอยู่ในอำเภอที่เราคุ้นเคยกันดี แต่โรงเรียนแห่งนี้กลับตั้งอยู่ในพื้นที่เขตชายเลนที่ห่างไกล เดินทางออกไปเรียนนอกพื้นที่ก็ลำบาก แถมชุมชนยังมีขนาดเล็กจิ๋ว มีประชากรรวมกันอยู่แค่ร้อยกว่าเรือน ส่งผลให้เด็กๆ ที่ต้องไปโรงเรียนมีอยู่น้อยนิด รวมกันทั้งโรงเรียนเลยมีนักเรียนแค่ 80 กว่าคน

ปัญหาใหญ่ของโรงเรียนขนาดเล็ก

ผอ.เดชาบอกว่าปัญหาหลักของโรงเรียนวัดเขายี่สาร เดิมทีนั้นมียิบย่อย สามารถแบ่งเป็นปัญหาใหญ่ 5 ข้อดังนี้

● คุณครูไม่เพียงพอ ตามหลักแล้ว คุณครูอัตราจ้าง 1 คนจะต้องรับหน้าที่ดูแลเด็กๆ 20 คน อาจฟังดูไม่ใช่ปัญหาอะไรเมื่อเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะหนึ่งห้องเรียนก็อาจมีเด็กๆ ครบหรือมากกว่า 20 คนเข้าไปแล้ว แต่พอเป็นโรงเรียนขนาดเล็กจิ๋วที่มีเด็กรวมกันทั้งโรงเรียนแค่ 80 คนแบบนี้ โรงเรียนจึงได้รับการสนับสนุนคุณครูอัตราจ้างแค่ 4 คนเท่านั้น พอครูไม่ครบชั้น ไม่ครบสาระวิชา ครูแต่ละคนจึงต้องเข้าสอนในวิชาที่ตนเองไม่ถนัดด้วย ส่วนเด็กๆ เองก็ได้รับการดูแลไม่ทั่วถึงเท่าที่ควร

● ไม่มีงบพัฒนาอาคารสถานที่ งบพัฒนาโรงเรียนส่วนใหญ่จะได้รับเท่ารายหัวของนักเรียนในโรงเรียน ซึ่งเงินส่วนนี้จะถูกจัดสรรไปเพื่อใช้จ่ายตามความเหมาะสม เมื่อนักเรียนน้อย งบก็น้อย เงินที่จะเหลือไปพัฒนาอาคารสถานที่จึงแทบไม่มี คราวนี้โรงเรียนเลยไม่มีทั้งห้องสมุด ห้องแล็บ และห้องคอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ

● อยู่ห่างไกล ระบบสาธารณูปโภคไม่ค่อยดี ด้วยความที่พื้นที่อยู่ห่างไกล ระบบไฟฟ้าจึงไม่ค่อยเสถียร น้ำประปาก็ไหลอ่อน ทางโรงเรียนจึงต้องพึ่งระบบปั๊มน้ำที่ต้องใช้ไฟฟ้ามาก เงินจำนวนมากจึงเสียไปกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเหล่านี้ จนกลายเป็นค่าใช้จ่ายอันดับต้นๆ ของโรงเรียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

● ไม่มีสื่อการสอนที่ได้คุณภาพ โรงเรียนไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ โดยเฉพาะอุปกรณ์ไอที ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนนอกเหนือจากในหนังสือเรียนได้

● เด็กๆ ขาดมิติทางสังคม ความที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กๆ แต่ละชั้นจึงมีอยู่แค่ไม่กี่คน ส่งผลให้เด็กๆ ไม่มีเพื่อน ขาดการเรียนรู้เรื่องการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครู

“ประเด็นของเราคือนักเรียนที่เรียนกับโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน มันไม่ทำให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน กลายเป็นข้อจำกัดในการศึกษาของเด็กๆ ในอนาคต โอกาสที่เขาจะเข้าไปสอบต่อในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง หรือจะมีอนาคตที่ดีก็เป็นไปได้ยาก สุดท้ายเขาก็ต้องไปต่อโรงเรียนใกล้บ้าน ซึ่งก็เป็นโรงเรียนเล็กๆ เหมือนกัน

“พอไปต่อมัธยมขนาดเล็ก เด็กก็เรียนไม่จบ เพราะบางทีก็มีปัญหา ซึ่งมาจากการดูแลไม่ทั่วถึงของโรงเรียนตั้งแต่แรก สุดท้ายช่องโหว่แบบนี้ก็ไม่สามารถปิดได้ ถ้าปัญหาทั้งหมดไม่ได้รับการแก้ไข” ผอ. อธิบายพร้อมเสริมว่าในอีกหลายกรณีเด็กๆ ก็ตัดสินใจเลิกเรียนไปเลย ในเมื่อการออกไปทำงานหาเงินอาจคุ้มค่ากว่าการไปเรียนหนังสือ


ไม่อยากให้เด็กๆ หายไป เลยต้องพัฒนาคุณภาพโรงเรียน!

“การได้มาเจอมูลนิธิฯ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โรงเรียนมีความหวังอีกครั้งว่าเราจะเป็นสถาบันการศึกษาหลักของชุมชนได้ เราหวังว่าเด็กๆ จะได้เรียนในโรงเรียนดีใกล้บ้าน มีคุณภาพ และผมคิดว่าหลังจากเริ่มดำเนินการมา โรงเรียนเราก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลย”

ด้วยความเชื่อว่าโรงเรียนเล็กควรมีมาตรฐานเหมือนโรงเรียนใหญ่ ผอ.เดชาจึงเริ่มเข้าร่วมโครงการพัฒนาโรงเรียนกับหน่วยงานต่างๆ และเริ่มวางแผนพัฒนาระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนใหม่ผ่าน ‘โครงการพัฒนาการคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก’ ที่ได้มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา มาช่วยสนับสนุนงบประมาณ เปลี่ยนโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ให้มีคุณภาพมากขึ้น

พัฒนาคุณครูให้สนุกกับการสอน

การพัฒนาระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ เริ่มต้นได้จากการพัฒนาคุณครูให้สนุกไปกับการสอน ทางโรงเรียนได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาช่วยอบรมเทคนิคการสอน และแนะนำการใช้แอปพลิเคชั่นที่จะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กๆ เป็นเรื่องสนุกมากขึ้น

นอกจากนี้ทางมูลนิธิสุทธิรัตน์ยังให้งบอุดหนุนสำหรับจ้างครูเพิ่มเติมในวิชาคณิตศาสตร์และพละศึกษา ทำให้ตอนนี้ที่โรงเรียนมีคุณครูครบชั้น ถือเป็นการแบ่งเบาภาระคุณครูคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี โดยคุณครูทุกคนจะได้รับสวัสดิการครบถ้วน พร้อมค่ากิน ค่าอยู่ สามารถพักในบ้านพักของโรงเรียนได้ เพื่อลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

“เรายังช่วยพัฒนาครูจ้างด้วยการส่งเขาไปไปอบรมกับจังหวัด เพื่อจะได้มีเทคนิคดีๆ เอามาใช้สอนเด็กๆ และยินดีช่วยพัฒนาวิชาชีพถ้าเขาอยากไปสอบบรรจุครู มันเป็นแรงจูงใจให้เขาอยู่กับเรานานขึ้น ครูเองพอได้ทำงานอย่างสบายใจไม่มีภาระ เขาก็จะได้ช่วยดูแลโรงเรียนด้วย เช่น มาช่วยดูแลสวน ดูแลต้นไม้ บางทีครูก็มาแนะนำเด็กให้ปลูกผัก ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ หลังเลิกเรียน”


ส่งเสริมอุปกรณ์การเรียนให้ครบครัน

เมื่อครูพร้อม อุปกรณ์การเรียนการสอนก็ต้องครบครัน มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา เข้ามาช่วยสนับสนุนโน้ตบุ๊กให้คุณครูทุกคนใช้เตรียมการสอนได้อย่างเต็มที่ และในช่วงโควิดที่เด็กๆ ต้องกลับไปเรียนหนังสือที่บ้านแบบนี้ เด็กๆ และคุณครูยังได้รับการสนับสนุนซิมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้ใช้เรียนออนไลน์ จะได้หมดกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายกันทุกคน

ส่วนเด็กคนไหนที่มีอุปกรณ์ไม่พร้อม จากเดิมที่อดเข้าเรียน ได้แต่ทำการบ้านตามที่ครูสั่งแล้วตามส่งทีหลัง โรงเรียนก็เปิดโครงการรับบริจาคสมาร์ตโฟนจากสมาชิกชุมชนใกล้เคียงมาส่งต่อให้เด็กๆ ยืมใช้ และยังมีแท็บเล็ตจากโครงการประชารัฐ ช่วยให้การเรียนราบรื่นขึ้นอีกด้วย เด็กๆ ทุกคนจึงเข้าเรียนได้ครบทุกคาบแบบหายห่วงแล้ว!

ทำให้เด็กๆ มาโรงเรียนอย่างมีความสุข

ผอ.เดชาบอกว่าในบริเวณใกล้เคียงกันนี้ ยังมีโรงเรียนเล็กๆ อีกแห่งที่มีนักเรียนบางห้องแค่หนึ่งคน เพื่อให้การเรียนการสอนของโรงเรียนเล็กทั้งหมดในชุมชนมีคุณภาพมากที่สุด ผอ.จึงเสนอแนวทางให้โรงเรียนขนาดเล็กเหล่านี้มารวมกัน โดยให้เด็กๆ และคุณครูมาเรียนร่วมกันที่โรงเรียนวัดเขายี่สาร เด็กๆ จะได้มีเพื่อนมากขึ้น ได้ฝึกการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัว ส่วนทางโรงเรียนก็ได้ครูอีกคนมาช่วยสอน

“สำหรับเด็กคนไหนที่มีความสามารถทางวิชาการสูง ครอบครัวอยากผลักดันให้จบชั้นสูงสุดแต่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย เราก็จะคัดเลือกเด็กๆ ให้มูลนิธิฯ พิจารณา เพื่อให้ทุนการศึกษาตั้งแต่ขึ้นมัธยมจนจบปริญญาตรี”

เรียนจากของจริง ไม่ได้มีแค่ในตำรา

ถึงจะจิ๋วแต่ก็แจ๋ว เพราะโรงเรียนแห่งนี้มีการสอนแบบ Active Learning หรือการเรียนผ่านการปฏิบัติจริง ไม่พึ่งตำราเรียนเพียงอย่างเดียวด้วยนะ

ที่โรงเรียนจะสอนให้เด็กๆ ปลูกผักอินทรีย์ กิน และขาย แล้วเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ ถือเป็นการบูรณาการวิชาต่างๆ รวมกันเอาไว้ในแปลงผักแปลงเดียว เด็กๆ จะได้ศึกษาเรื่องดินและปุ๋ยในวิชาวิทยาศาสตร์ ได้ฝึกเปรียบเทียบความยาวของพืชพันธุ์ในวิชาคณิตศาสตร์ ได้เรียนรู้ราคาตลาด และฝึกจัดการรายรับ-รายจ่ายในวิชาเศรษฐศาสตร์ เรียกว่าครบวงจรสุดๆ

 “จากนั้นเรายังขยายผลสู่ครัวเรือน ครูจะแจกเมล็ดพันธุ์จากโรงเรียนให้เด็กๆ ไปปลูกที่บ้าน แล้วก็ส่งเสริมให้นี่เป็นกิจกรรมครอบครัวที่ผู้ปกครองจะมาช่วยเด็กๆ ทำไปด้วยกัน ในช่วงนี้เราก็จะสอนภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการทำปุ๋ยชีวภาพและปุ๋ยจุลินทรีย์ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านด้วย เมื่อเด็กๆ กลับไปเรียนรู้ที่บ้าน เขาก็จะต้องจดบันทึก สังเกต เขียนสิ่งที่ทำมาเป็นโครงงาน แล้วเราก็จะเอาสิ่งนี้มาประมวลผลการเรียนรู้ของเด็กๆ อีกทางหนึ่ง” 


นอกจากนี้ในอนาคตคุณครูยังร่วมกันเขียนหลักสูตรให้เด็กๆ ได้ลงไปเรียนนรู้ในชุมชนอย่างเต็มที่ด้วย ทั้งการลงไปเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อม แปรรูปอาหารทะเล ทำขนมหวาน อนุกรักษ์ป่าไม้โกงกาง และฝึกภาษาอังกฤษ เพื่อต่อไปพวกเขาจะได้เป็นไกด์ตัวจิ๋วนำเที่ยวในชุมชนได้ ถือเป็นการสร้างอาชีพไปในตัว แถมวิชาเหล่านี้ยังหาเรียนไม่ได้จากโรงเรียนไหน เพราะเป็นของดีของชุมชนโดยเฉพาะจริงๆ

โรงเรียนขนาดเล็กที่ใครๆ ก็แฮปปี้

เมื่อโรงเรียนขนาดเล็กคุณภาพดี ทุกๆ คนก็มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ ที่ได้เรียนรู้อย่างสนุกสนาน ตื่นเช้าไปโรงเรียนสะดวกสบาย ผู้ปกครองก็สบายใจได้ว่าลูกหลานของตนจะได้เรียนในโรงเรียนคุณภาพ คุณครูเองก็แฮปปี้ เพราะมีอุปกรณ์การสอนครบครัน ได้สอนอย่างเต็มศักยภาพ เมื่อเด็กได้ความรู้เต็มที่ พวกเขาก็จะมีทางเลือกในการเรียนต่อมากขึ้นในอนาคต