ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

เปลี่ยนนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ใน 1 ปี เจ้าของนาผืนนี้ต้องทำอะไรบ้าง

เปลี่ยนนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ใน 1 ปี เจ้าของนาผืนนี้ต้องทำอะไรบ้าง

เปลี่ยนนาเคมีเป็นนาอินทรีย์ใน 1 ปี เจ้าของนาผืนนี้ต้องทำอะไรบ้าง?

      เบื้องหน้าผืนนาอินทรีย์สีเขียวขจีแบบนี้ มีน้อยคนที่รู้ว่าเส้นทางแห่งการปรับเปลี่ยนผืนนาเคมีให้เป็นนาอินทรีย์โดยสมบูรณ์นั้นไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เพราะเบื้องหลังของมันเต็มไปด้วย ‘ต้นทุน’ ที่ประกอบไปด้วยแรงกาย แรงใจ และวันเวลาแรมเดือนแรมปี 

ถึงเส้นทางนี้จะดูยากเย็น ทว่าสิ่งที่ช่วยให้พี่ๆ ชาวนาเอาชนะทุกอุปสรรคชวนท้อใจที่แวะเวียนเข้ามาก็คือ ‘ปณิธานเลิกยาอันแน่วแน่’ ที่ไม่ได้ก่อตัวจากเสียงหัวใจของพี่ๆ ชาวนาเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเสียงคนปลายทาง ที่ตั้งตาคอยผลผลิตอินทรีย์ของพวกเขาด้วยนั่นเอง

แท้จริงแล้ว มิติของ ‘อินทรีย์’ ต่างกับคำว่า ‘ปลอดสารเคมี’ ตรงที่อินทรีย์คือไม่ใช้สารเคมีในทุกขั้นตอนการเพาะปลูก เป็นแนวทางการทำเกษตรที่รักษาระบบนิเวศ น่ารักกับสิ่งแวดล้อม และเน้นการพึ่งพาอาศัยกันเป็นที่ตั้ง ซึ่งในมิติเดียวกันนี้ ผู้บริโภคก็มั่นใจได้เลยว่า ตั้งแต่วันที่ต้นกล้าที่งอกเงยขึ้นมา นอกจากจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น ผู้บริโภคยังมั่นใจได้ว่า ผลผลิตตรงหน้าไม่มีเอี่ยวกับสารเคมีที่น่าหวาดกลัวแน่ๆ เพราะขั้นตอนการตรวจรับรองผลผลิตอินทรีย์ ผู้ตรวจและผู้รับรองของเราเคี่ยวกันสุดๆ 


วันแรกที่ ‘เลิกยา’ เป็นเพียงจุดเริ่มของการปรับเปลี่ยน

    ใช่ว่าอยากเลิกยาปุบปับแล้ว นาผืนนั้นจะเป็นนาอินทรีย์ได้เลย เพราะตามข้อกำหนดการผลิตพืชอินทรีย์อย่างข้าวนั้น ถูกขีดเส้น (แถมเน้นด้วยปากกาไฮไลต์) ไว้ว่า พี่ๆ ชาวนาจะต้องเลิกใช้สารเคมีกับผืนนาตัวเองเป็นเวลาอย่างน้อย 12 เดือนหรือ 1 ปี หากยังไม่ครบ ก็ยังไม่มีสิทธิเข้ารับการตรวจรับรอง

ซึ่งระยะนี้ พี่ๆ ชาวนาที่เพิ่งเลิกเคมีมาหมาดๆ จะต้องอยู่ในสถานะ ‘อินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยน’ เสียก่อน ดังนั้น ข้าวที่ถูกปลูกในฤดูนาปีนั้นจะยังไม่สามารถขายในตลาดอินทรีย์ แต่สามารถระบุแบบเคลียร์ๆ กับคนซื้อได้ว่าเป็นอินทรีย์ระยะปรับเปลี่ยนได้

มิชชั่นแรกคือการเตรียมพื้นที่ผลิตให้ไร้เคมี

  เรื่องแรกที่ต้องใส่ใจคือ การทำแนวกันชน กันสารเคมีจากทั้ง 4 ทิศ หากนาของเพื่อนบ้านฉีดพ่นสารเคมี ก็มีโอกาสสูงที่ลมจะพัดพาสารเคมีเข้ามา แนวกันชนจะทำหน้าที่เป็นปราการป้องกันตัวร้ายไม่ให้เข้ามาปนเปื้อนข้าวในนา สำหรับพี่ๆ ชาวนาที่มีทุนหรือมีพื้นที่เหลือไม่พอในช่วงแรก อาจเลือกวิธีกางสแลนในฤดูทำนา ส่วนการทำแนวกันชนถาวรที่เป็นการปลูกพืชตามระดับ เช่น ต้นไผ่เป็นแนวกันชนระดับสูง ต้นกล้วยเป็นกันชนระดับกลาง หรือปลูกตะไคร้เป็นกันชนระดับเตี้ย จะเหมาะกับผืนนาที่มีพื้นที่ 

กันสารเคมีทางอากาศแล้วทางน้ำก็ต้องป้องกันด้วย พี่ๆ ชาวนาต้องเปลี่ยนทางน้ำ จากที่เคยใช้น้ำจากแหล่งน้ำโดยตรง หากแหล่งน้ำมีความเสี่ยงปนเปื้อนสารเคมี เท่ากับว่าต้นข้าวอาจได้รับสารเคมีที่ปนเปื้อนมากับน้ำได้เช่นกัน ซึ่งวิธีการก็คือต้องขุดร่องพักน้ำ หรือกั้นทางน้ำด้วยพืชกรองน้ำอีกชั้น กรองเคมีที่จะเข้ามายังพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย

เมื่อเริ่มฤดูปลูกข้าว พี่ๆ ชาวนา ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ ห้ามใช้เมล็ดพันธุ์ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรม (GMO) โดยระหว่างที่ต้นข้าวเติบโตก็ต้องมีการเติมปุ๋ยบำรุง นอกจากเลิกใช้ปุ๋ยเคมี พี่ๆ ชาวนาจะต้อง จัดการพื้นที่เก็บปัจจัยการผลิต อย่างปุ๋ย รวมทั้งสารชีวภัณฑ์ปรับปรุงดินและกำจัดโรคพืชและโรคแมลง ต้องถูกจัดเก็บเป็นกิจลักษณะ สูตรปุ๋ยธรรมชาติที่ใช้ต้องมีการตรวจสอบด้วยว่ามีสารสังเคราะห์ร่วมด้วยหรือไม่ เช่น หากมียูเรียที่ทำหน้าที่เร่งการเติบโต ก็ต้องรีบเปลี่ยนสูตรปุ๋ยแบบด่วนๆ 

เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์การเกษตร คืออีกเรื่องที่ต้องซีเรียส เพราะวัสดุ อุปกรณ์บางรายการ เช่น กระสอบ เครื่องพ่นสารชีวภัณฑ์ ก็มีข้อห้ามใช้ร่วมกันระหว่างนาเคมีและอินทรีย์ หรือถ้าเป็นเครื่องมือที่เวียนใช้กับนาเคมี เช่น รถเกี่ยวนวดข้าวที่เช่ามา ก่อนใช้พี่ๆ ชาวนาก็ต้องมีมาตราการทำความสะอาดให้สารเคมีที่อาจติดค้างอยู่ที่เครื่องหมดไปก่อนใช้งาน อีกทั้งโรงเก็บเครื่องมือก็ต้องมีการจัดการที่ดี ไม่เก็บปะปนกับเครื่องมือทำเกษตรเคมี หรือวัสดุ อุปกรณ์บางรายการก็ห้ามใช้ร่วมกันระหว่างเคมีและอินทรีย์ เช่น กระสอบ เครื่องพ่นสารชีวภัณฑ์

ด้วยใจความของเกษตรอินทรีย์ที่เน้นเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมไปด้วย นอกจากการป้องกันการปะปนของสารเคมี กิจกรรมคุ้นเคยอื่นๆ ที่เป็นการทำร้ายสิ่งแวดล้อม พี่ๆ ชาวนาก็ต้องเลิกทำด้วย เช่น เลิกเผาฟางหรือตอซัง เป็นต้น

มิชชั่นสองคือการบันทึกเอกสารประกอบการรับรอง PGS

    นอกจากจับเครื่องมือทำนา ทำงานชนิดว่ามือเป็นระวิงแล้ว ตลอดระยะปรับเปลี่ยน (รวมทั้งตลอดเวลาที่ทำเกษตรอินทรีย์) พี่ๆ ชาวนาจะต้องจับปากกาบันทึกข้อมูลอย่างขันแข็งด้วย!

  ตั้งแต่ การทำแผนการผลิต ปลูกข้าวอะไรและปลูกยังไง ทำแผนผังฟาร์ม อธิบายการจัดการพื้นที่ และ บันทึกกิจกรรมฟาร์ม ที่ต้องบอกว่าแต่ละวันมีการลงมือทำอะไรบ้าง ใช้ปัจจัยการผลิตอะไร มีส่วนผสมแบบไหน หรือได้มากจากแหล่งใด รวมทั้ง ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ที่ช่วยให้พี่ๆ ชาวนาเช็คต้นทุนและกำไร เห็นความต่างระหว่างการทำนาเคมีและนาอินทรีย์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นหลักฐานอ้างอิงว่า พวกเขาลงมือเปลี่ยนนาเป็นอินทรีย์ตามเจตนาจริง ไม่ได้โม้! แถมเอกสารเหล่านี้ ยังสามารถใช้ต่อยอดสู่การรับรองมาตรฐานอินทรีย์อื่นๆ เช่น Organic Thailand หรือ การรับรองมาตรฐานสากล (IFOAM) ในอนาคตได้อีกด้วยนะ



เมื่อระยะปรับเปลี่ยนครบ 12 เดือนตามสัญญา ผืนนาของพี่ๆ ชาวนาก็จะต้องรับการตรวจรับรองขอบข่ายการผลิตพืชอินทรีย์ SALANA PGS อย่างเข้มข้นโดยทีมจากมูลนิธิสุทธิรัตน์ฯ เมื่อมีข้อใดขาดตกบกพร่องไปก็ไม่ได้แปลว่าจะตกรอบ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะทางมูลนิธิฯ จะไกด์ให้พี่ๆ พยายามกันต่อในฐานะ ‘ระยะปรับเปลี่ยนปีที่ 2 ‘ ต่อโปรจนกว่าจะเอาชนะเงื่อนไขทุกๆ ข้อเท่าที่ความสามารถและความพร้อมที่พวกเขามีให้ได้

เมื่อได้คลี่เส้นทางนี้ออกมาดู การส่ง ‘กำลังใจ’ เติมแรงให้พี่ๆ ชาวนา ไม่ให้ยอมแพ้ต่ออุปสรรคระหว่างทาง อาจเริ่มต้นด้วยการทำความรู้จักและให้คุณค่ากับผลงานจากความตั้งใจของพวกเขา และเราทุกคนช่วยกันได้นะ