ข่าวประชาสัมพันธ์

Close

ข่าวประชาสัมพันธ์

การเดินทางไปด้วยกันของ ‘วัวแดง และมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’

การเดินทางไปด้วยกันของ ‘วัวแดง และมูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’

เพราะเรารู้ว่าการมีอยู่ของ ‘วัวแดง’ สำคัญ สิ่งใดที่ ‘มูลนิธิสุทธิรัตน์ อยู่วิทยา’ ทำได้ เราขอลงแรงทำ และนั่นทำให้เกิด ‘โครงการรอนุรักษ์และขยายพันธุ์วัวแดง’ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2557 

เป้าหมายหลักของการเดินทางอนุรักษ์วัวแดง คือการขยายพันธุ์วัวแดงให้มากขึ้น โดยมูลนิธิฯ ร่วมมือกันกับศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาน้ำพุ และชุมชนรอบๆ ป่า ช่วยกันเชื่อมร้อยเส้นทางให้เจ้าวัวเดินทางจากป่าสลักพระไปสู่ป่าห้วยขาแข้งให้ได้ และหากทำได้จริง เราจะเห็นประชากรวัวแดงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว


‘การอนุรักษ์วัวแดง’ คือจุดเริ่มต้น 

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557-2565 ได้มีการปล่อยวัวแดงเข้าป่าสลักพระไปแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง รวมจำนวน 16 ตัว 

ซึ่งการปล่อยวัวแดงเข้าป่าเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์เท่านั้น เพราะเรายังต้องการติดตามวัวแดงต่อว่าเมื่อเจ้าวัวย้ายที่อยู่อาศัยไปในป่าจริงๆ แล้วจะใช้ชีวิตอย่างไร อาหารการกินเพียงพอไหม เจอฝูงเพื่อนวัวแดงหรือเปล่า ทำให้ในปี พ.ศ. 2563 ทางมูลนิธิฯ ได้ติดตั้ง กล้องติดตาม Camera Trap สังเกตพฤติกรรมของวัวแดงและสัตว์ป่าอื่นๆ ดูว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือมีการเลือกเส้นทางเดินไปในทิศไหน เพื่อจะได้วางแผนงานอนุรักษ์เชื่อมรอยต่อเส้นทางวัวแดงในอนาคตได้ ซึ่งปัจจุบันมีกล้องติดตามจำนวน 30 ตัวแล้ว โดยติดตามต้นไม้ในเส้นทางที่คาดว่าสัตว์จะเดินผ่าน เช่น ใกล้แหล่งน้ำ ใกล้แหล่งอาหาร เช่น โป่ง และภาพจากกล้องทำให้เราเห็นว่า ยังพบวัวชุดแรกอาศัยอยู่ วัวแดงเริ่มอยู่รวมกันเป็นฝูง และมีลูกน้อยเกิดขึ้นในป่าอย่างน้อย 22 ตัวแล้ว!

นอกจากกล้องติดตามจะฉายภาพวัวแดงที่เดินผ่านไปมา ยังมีสัตว์อื่นมาร่วมเฟรมด้วย ทั้งนกยูง ช้างป่า หรือกระทั่งเสือโคร่งที่เคยหายสาบสูญไปจากป่าสลักพระ! กลายเป็นระบบนิเวศของป่าที่เริ่มสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีสัตว์มากหน้าหลายตาเริ่มเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ และที่สัตว์หลายชนิดได้ย้ายบ้านมาอยู่ที่ป่าสลักพระ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าป่าแห่งนี้กลายเป็นป่าที่ปลอดภัยไร้ผู้ล่าอย่างมนุษย์อย่างแท้จริง


โดยหนึ่งในงบสนับสนุนของมูลนิธิฯ ที่มอบให้กับศูนย์อนุรักษ์ฯ ได้ถูกนำไปทำกิจกรรมประชาสัมพันธ์ให้กับคนในชุมชนรอบๆ ป่า ว่าต่อจากนี้จะมีการปล่อยวัวแดงกลับเข้าป่า ให้ทุกคนช่วยเป็นหูเป็นตาและบอกต่อกันด้วย ถ้าเจอน้องวัวย่างกรายไปที่ไหนไม่ต้องตกใจ ผู้คนรีบแจ้งมาที่ศูนย์ฯ ได้เลยเดี๋ยวจัดการให้ จากเมสเซจนี้ทำให้เกิดเป็น ‘มวลชนจิตอาสาอนุรักษ์วัวแดง’ ที่อยู่รอบป่า มาช่วยกันอนุรักษ์วัวแดงอย่างเข้าใจ

อีกหนึ่งกลุ่มคนสำคัญของเส้นทางอนุรักษ์นี้ คือเหล่าอาสาใน กิจกรรม Goal Together กิจกรรมที่มีมวลชนอาสา กว่า 2,000 คน ที่มาช่วยกันลงใจลงแรง ในทุกกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ได้จัด ซึ่งหนึ่งในนั้นมีกิจกรรมอนุรักษ์วัวแดงรวมอยู่ด้วย 

กิจกรรม Goal Together รุ่น 1 ในปี พ.ศ. 2562 ได้มีการช่วยกันสร้างคอกให้วัวแดงในศูนย์อนุรักษ์ฯ ใน ‘โครงการคืนวัวแดงสู่ผืนป่า เรียนรู้คุณค่าความสมดุล’ เพื่อให้วัวแดงได้มีพื้นที่เตรียมตัวก่อนให้พร้อมปล่อยเข้าป่า ต่อมา รุ่น 2 ในปี พ.ศ. 2563 ได้ร่วมกันปลูกพืชอาหารสัตว์ป่าใน ‘โครงการปลูกพืชอาหารช้าง สร้างอาหารให้สัตว์ป่า’ ช่วยกันปลูกมะม่วงป่าสำหรับเป็นอาหารช้างจำนวน 2,500 ต้น และเพาะพันธุ์ต้นมะม่วงป่า จำนวน 10,000 ต้น ให้เพียงพอสำหรับปลูกเพื่อเป็นอาหารสัตว์ป่าต่อไป


‘การขยายพันธุ์วัวแดง’ อีกหนึ่งความหวังของการอนุรักษ์

ยังย้ำกันเสมอว่าเมื่อปล่อยวัวแดงเข้าป่าเรียบร้อยแล้ว ใช่ว่าภารกิจนี้จะจบสิ้น ยังมีงานเบื้องหลังที่คอยสนับสนุนการอนุรักษ์ไปให้สุดทางรออยู่

ด้วยความหวังที่ว่า วัวแดงที่ปล่อยเข้าป่าจะแข็งแรงและกลายเป็นวัวอาศัยในป่าอย่างสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 ทางมูลนิธิฯ เลยจับมือหน่วยงานภาคีวิชาการ ‘U Volunteer’ ที่มีคณะสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (กำแพงแสน) และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (ศาลายา) ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของวัวแดงและสัตว์ป่าอื่นๆ ในป่า ตรวจสุขภาพและตรวจ DNA ของวัวแดง เพิ่มโอกาสในการขยายพันธุ์วัวแดงก็จะมีเพิ่มมากขึ้น และลดปัญหาเลือดชิดที่อาจจะเกิดขึ้นถ้า DNA ของวัวแดงมีความใกล้เคียงกัน


อีกหนึ่งงานวิจัยที่กำลังดำเนินการในห้องแล็บคือ การผลิตตัวอ่อนวัวแดง เป็นอีกหนึ่งวิธีในการขยายพันธุ์วัวแดงให้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ถึงปัจจุบันยังนักวิจัยยังดำเนินการอย่างแข็งขันในห้องปฏิบัติการ เราก็ได้ทราบเบื้องต้นว่าสามารถผลิตตัวอ่อนได้ด้วยวิธี Intracytoplasmic sperm injection (ICSI) ซึ่งเบื้องต้นสามารถผลิตตัวอ่อนลูกผสมวัวแดงกับวัวบ้านได้เซลล์ที่แข็งแรงดี ต่อจากนี้จะทำการแช่แข็งเพื่อนำไปสู่การทดลองกระบวนการต่อไป

บทบาทของมูลนิธิฯ กับวัวแดง เหมือนเพื่อนที่อยู่ข้างๆ คอยซัพพอร์ตกันและกันเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ให้ดีที่สุด เส้นทางของวัวแดงที่เริ่มออกเดินทางยังเป็นสิ่งที่คนไกลป่าอย่างเราต้องจับตามอง และคอยให้กำลังใจอยู่ไกลๆ ให้เจ้าวัวทั้งหลายเดินทางข้ามไปห้วยขาแข้งและขยายพันธุ์เป็นฝูงใหญ่ เชื่อมระบบนิเวศของป่าให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง